
เนื่องจากมีคุณครูถามมาทางหลังไมค์ว่าอยากรู้ความหมายของ การศึกษาในระบบ,การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งสามคำนี้มาจาก พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ว่าด้วยการจัดการศึกษาซึ่งกำหนดมีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย วันนี้เทรนครูจะมาอธิบายแบบเข้าใจง่ายๆกันครับ
(1) การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดทั้งจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและการประเมินผลซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน พูดง่ายๆ คือการเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั่นเองครับ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา

(2) การศึกษานอกระบบ เป็นระบบที่มีข้อดีตรงที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผลมากกว่าการศึกษาโดยระบบ โดยที่จะมุ่งเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในระบบได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เช่น โรงเรียนพระดาบสในพระบรมราชูปถัมป์ที่เปิดหลักสูตรอบรมให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นต้น

(3) การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ หรืออย่างที่เรารู้จักกันในชื่อ การเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นเองครับ ซึ่งนักเรียนมีอิสระในการเรียนรู้ โดยที่ไม่จำกัดวิธีที่เข้าถึงความรู้ และเวลา ทำให้เด็กสามารถค้นพบวิธีการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการรับรู้ของตนเอง

อย่างไรก็ตามแนวคิดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะถือว่าทั้ง 3 ระบบนี้คือ รูปแบบของการจัดการเรียนการสอน และจะส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ แต่จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ไม่บังคับและจะให้มีระบบการเทียบโอนซึ่งคงไม่ง่ายอย่างที่คิด คงต้องมีหลักเกณฑ์การพิจารณา เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นระหว่างสถานศึกษาต่างๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดมาตรฐานการศึกษาอาจจะต้องคิดหลักเกณฑ์การเทียบโอนนี้ให้สถานศึกษานำไปเป็นแบบของการเทียบโอน
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.moe.go.th